ชาวสวนยางอีสานใต้ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
อุบลราชธานี - ชาวสวนยางอีสานใต้ยื่นหนังสือจี้ กยท.เข้ามารับซื้อยางพาราแข่งกับเอกชน ทั้งให้ตั้งโรงงานแปรรูปยางพารา หวังทำให้กลไกราคารับซื้อยางปรับตัวดีขึ้น ทั้งสร้างทางเลือกขายยางให้ชาวสวน ด้าน “กฤษฎา” รมว.เกษตรและสหกรณ์ เล็งเทงบฯ กลางปีกว่า 1.5 แสนล้านบาท หนุนเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูก หนุนตั้งโรงานแปรรูป และทำสต๊อกเก็บยางพาราขายช่วงราคาดี
วันนี้ (24 ม.ค. 61) ที่โรงแรมสุนีย์แกรนด์ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางในจังหวัดศรีสะเกษ และในจังหวัดอีสานตอนล่างได้ยื่นหนังสือต่อ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเดินทางมาร่วมการประชุมสัมมนาการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระดับพื้นที่สู่การปฏิบัติ โดยเรียกร้องให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รับซื้อยางพาราแข่งกับเอกชนเพื่อให้มีการแข่งขันด้านราคา ทำให้ราคายางพาราสูงขึ้น
พร้อมทั้งสนับสนุนการตั้งโรงงานแปรรูปยางพาราตามเครือข่ายและชุมนุมสหกรณ์ เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในการขายยาง และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางให้แก่เกษตรกร และให้โรงงานรับซื้อยางของการยางแห่งประเทศไทยที่จังหวัดศรีสะเกษมีการประเมินเปอร์เซ็นต์ยางพาราของชาวสวนให้ได้มาตรฐานเดียวกับพ่อค้า นายภาคภูเบศ พวงมาลี ประธานสหกรณ์สวนยางพาราบ้านซำเบ็ง ตำบลกระแชง อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า หากรัฐบาลสนับสนุนให้เครือข่ายและชุมนุมชาวสวนยางมีโรงงานแปรรูปจะทำให้สามารถแข่งขันด้านราคาในการรับซื้อยางจากเกษตรกรมาแปรรูปได้โดยตรง ปัจจุบันจังหวัดศรีสะเกษมีผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดเดือนละ 5 หมื่นตัน โดย 95 เปอร์เซ็นต์ชาวสวนยางต้องขายเป็นยางก้อนถ้วย ซึ่งได้ราคาต่ำ
นอกจากนี้ การรับซื้อยางจากพ่อค้าที่เข้ามาประมูลรับซื้อ กลุ่มพ่อค้ามีการตกลงด้านราคากันไว้ ทำให้ชาวสวนยางถูกกดราคา หากการยางแห่งประเทศไทยเสนอตัวเข้ามาประมูลจะทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา และพ่อค้าก็ต้องใช้เป็นมาตรฐานราคารับซื้อในครั้งต่อๆ ไป และสิ่งที่ชาวสวนยางติดใจสงสัยเวลานี้คือ โรงงานรับซื้อยางของการยางฯ ที่จังหวัดศรีสะเกษ บางครั้งให้เปอร์เซ็นต์ยางพาราต่ำกว่าของพ่อค้า ทำให้ขายได้ราคาถูก ทั้งที่มีแหล่งผลิตยางพารามาจากที่เดียวกัน
ด้านนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางไว้หลายเรื่อง ทั้งจะนำงบกลางปีประมาณ 1.5 แสนล้านบาท โดยแบ่งส่วนหนึ่งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปสนับสนุนการตั้งโรงงานแปรรูปยางพาราให้กลุ่มเกษตรกรที่มีความเข้มแข็ง สามารถแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ รวมทั้งสร้างแหล่งเก็บสต๊อกยางพารา รอนำออกมาขายในช่วงที่ยางได้ราคาดี ให้หน่วยงานรัฐสนับสนุนใช้ยางพาราในประเทศมากขึ้น
รวมทั้งให้เกษตรกรสมัครใจเข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่การเพาะปลูกยางพาราไปเป็นพืชชนิดอื่นที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรไม่แพ้ยางพารา เพื่อลดปริมาณผลผลิตยางพาราในประเทศ จะทำให้ราคายางพารามีการปรับตัวสูงขึ้น คาดว่าอีก 6 เดือนข้างหน้านี้ราคายางพาราภายในประเทศจะปรับตัวสูงขึ้น หลังรัฐบาลมีมาตรการออกมาช่วยเหลือชาวสวนยางแล้ว นอกจากนี้ ช่วงบ่ายนายกฤษฎายังประชุมร่วมกับภาคเอกชนเพื่อช่วยผลักดันนโยบายของรัฐบาลที่จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มเกษตรกร โดยรับซื้อสินค้าจากเกษตรกรตามกลไกการตลาด ไม่เอาเปรียบเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิต เพื่อให้มีรายได้เพียงพอใช้จ่ายในครัวเรือน นำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรในประเทศด้วย