ศรีสะเกษ-“อาคม” รมว.คมนาคม ลงทุนลงพื้นที่ ตรวจเข้มการก่อสร้างถนนลาดยาง ทางหลวงหมายเลข 226 เผยประมูลงานสร้างถนนโปร่งใสมีเงินเหลือ 90 ล้านบาท ทั้งคุณภาพถนนดีเท่าเดิม พร้อมสั่งกรมทางหลวง ผสมยางพารา มากขึ้น หวังส่งเสริมกลไกรับซื้อยางพาราให้ดีขึ้น  

 

 

วันนี้ (24ก.พ.61) ที่บริเวณหลัก กม.ที่ 14 ถนนสายศรีสะเกษ-อุทุมพรพิสัย ต.ตาเกษ อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะลงพื้นที่ตรวจโครงการก่อสร้างทางหลวง 226 สาย อ.อุทุมพรพิสัย -ศรีสะเกษ ระหว่าง กม. 260 + 389.000 บ้านหนองลุง, กม. 268 + 089.000 บ้านเพียนาม มีระยะทาง 7.700 กิโลเมตร ขนาดกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอก 2.50 เมตร

ด้านในแบ่งทิศทางจราจรด้วยเกาะยก (RAISED MEDIAN) ผิวจราจรเป็นลาดยางแอสฟัลต์คอนกรีต 2ชั้น รวมหนา 10 เซนติเมตร ขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้าง รมว.คมนาคม ได้นำเอาอุปกรณ์ตรวจสอบสภาพพื้นผิวการก่อสร้างถนนมาทำการตรวจเข้มด้วยตนเอง เพื่อตรวจสอบว่าการก่อสร้างเป็นไปตามแบบแปลนการก่อสร้างหรือไม่ ขณะที่เครื่องจักรกำลังทำงานท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัด โดยมีนายวิชาญ พันธ์นุเรณู ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงศรีสะเกษที่ 1 พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงคมนาคม ร่วมในลงพื้นที่

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การประกวดราคาอิเลกทรอนิกส์ เพื่อก่อสร้างถนนสายนี้ งบประมาณทั้งสิ้น 240 ล้านบาทเศษ ปรากฏว่ามีผู้เสนอราคาต่ำสุดคือ หจก.น้องเล็กสถาปัตย์ จำนวนเงิน 150,100,000 บาท ทำให้มีเงินเหลือจากการก่อสร้างถนนสายนี้ จำนวน 90 ล้านบาทเศษ คิดเป็น 38 เปอร์เซ็นต์ เท่าที่ดูราคาที่ลดลงมากขนาดนี้ ตนได้กำชับเรื่องการควบคุมมาตรฐานคุณภาพของงาน เท่าที่ดูขณะนี้ พบว่าทำงานได้ดี

 

เรื่องการกำหนดมาตรฐานความเรียบ มียาง 2 ชั้น โดยชั้นที่ 1 เรียกว่า ชั้นแรกเพื่อต่อเชื่อมกับชั้นบน ขณะนี้กำลังทำการปูชั้นแรกอยู่ เพราะฉะนั้น การตรวจสอบเรื่องมาตรฐานความเรียบจะต้องเริ่มจากชั้นที่ 1 ซึ่งผู้รับเหมาจะมีเครื่องวัดความเรียบตั้งแต่ชั้นที่ 1 พอชั้นที่ 2 ซึ่งเป็นผิวชั้นบน ทางนายช่างโครงการจะใช้วิธีการวัดด้วยมือ โดยจะนำเอาไม้บรรทัดทาบวัดตลอดแนวเพื่อดูว่า เรายอมได้กี่มิลลิเมตร ถ้าเกินมาตรฐาน ยกตัว เช่น ถนนยางมะตอยเราใช้ค่าอยู่ประมาณ 2.5 มม. ถ้า 2.5 มม.หรือมากกว่านี้ จะต้องสั่งให้แก้ไขทันที

การขยายช่องทางจราจรจากเดิม 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร บนทางหลวง 226 สาย อ.อุทุมพรพิสัย-ศรีสะเกษ มีความล่าช้าเล็กน้อย เนื่องจากฝนตกเมื่อปีที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการปูชั้นหินคลุก และปูผิวทางชั้นแรก ให้แล้วเสร็จก่อนช่วงสงกรานต์ เพื่อให้ผู้ใช้เส้นทางสัญจรสะดวก และหลังจากช่วงสงกรานต์ จะดำเนินการปูผิวจราจรชั้นบนให้เสร็จเรียบร้อย แม้ว่างานจะล่าช้าแต่ก็สามารถเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในกำหนดประมาณเดือนมิถุนายน

 

ตนได้สั่งการให้กรมทางหลวง ในส่วนที่ลาดยางแอสฟัลต์ในปี 2561 โดยการปรับรูปแบบของแอสฟัลต์ให้เป็นพาราแอสฟัลต์ คือการผสมยางพาราเข้าไปให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมในการซื้อยางพาราจากผู้ปลูกยางพาราของไทยตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารานั่นเอง

 

 

โดย: MGR Online

 
News image

Myanmar in 2013: Law vs. Business Practice -- An Insider’s View

News image

การรับรู้และการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของอีสาน

News image

ผลงานผ่านสื่อ E-BOOK

News image

ประกาศผล E-SAAN POLL PROJECT YOUNG CHILL

News image

Call for Candidacas