MGRออนไลน์ -- การก่อสรางสะพานข้ามลำน้ำสายหนึ่งในภาคใต้ของลาวใกล้แล้วเสร็จ ซึ่งจะกลายเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญอีกแห่งหนึ่งในอนุภูมิภาคแม่ข้ำโขง เปิดทางให้การเดินทางไปมาหาสู่กัน เช่นเดียวกับการขนส่งสินค้า ระหว่างไทย ลาว ไปยังภาคกลางเวียดนามสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น สะพานแห่งใหม่จะเปิดใช้ ในเดือน ม.ค.2561 นี้ จะเป็นจุดสำคัญที่ช่วยเปิดทางออกสู่ทะเล เสริมยุทธศาสตร์การเป็นดินแดนแห่งการเชื่อมต่อของ สปป.ลาว หากพูดถึงเป็นการเฉพาะ
สะพานเซกอง ในแขวงเซกองกำลังจะแล้วเสร็จ ภาพชุดหนึ่งที่เผยแพร่โดยองการไจก้า (JICA) ของญี่ปุ่นเมื่อเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นการก่อสร้างสะพานขึงขนาดใหญ่ อยู่ในขั้นตอนสุดท้าย สะพานเป็นรูปเป็นร่าง ดูแข็งแรงทนทาน บรรดาวิศวกร นายช่างชาวญี่ปุ่น กำลังทำงานแข็งขัน อยู่ในเขตป่าเขาทางตอนใต้ของลาว
"ຂົວຂ້າມນໍ້າເຊກອງ ຂົວແຫ່ງການເຊື່ອມໂຍງສາກົນ ແລະ ຈຸດທີ່ໂລກບໍເຄີຍຖືກປະຖິ້ມໄວ້ຢູ່ເບື້ອງຫຼັງ" นี่คือ หัวเรื่องที่ถูกนำมาเผยแพรในเฟซบุ๊กหลายแห่งของชาวลาว ในช่วงตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา เมื่อพูดถึงเหตุการณ์ ครั้งนายโยชิฮารุ โยเนะยามา ( Yoshiharu Yoneyama) หัวหน้าคณะผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างเทศญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency) ประจำลาว ไปเยี่ยมชมและติดตามความคืบหน้าโครงการ ถึงไซต์ก่อสร้าง เมื่อเดือนที่แล้ว
สะพานเซกองที่ทอดข้ามลำน้ำเซกอง เส้นเลือดสำคัญอีกเส้นหนึ่ง ซึ่งไปไหลลงแม่น้ำโขงในดินแดนกัมพูชา จะเชื่อมเมืองละมาม เมืองเอกแขวงเซกอง เข้ากับเมืองดากจึง อีกฝั่งหนึ่ง ที่มีชายแดนติดกับเวียดนาม อันเป็นเสมือนจุดอับสุดท้าย ที่เหลืออยู่บนเส้นทางจาก จ.อุบลราชธานี ของไทย ไปยังเมืองปากเซ แขวงจำปาสักของลาว ทะลุข้ามแดนเข้าสู่เวียดนาม ไปยังนครด่าหนัง ในอนาคต
หรือมองในทางกลับกัน การสัญจรโดยทางรถยนต์ จากนครใหญ่อันดับ 3 ที่อยู่ในภาคกลางเวียดนาม มายังกรุงเทพฯ ก็เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น และ จะเป็นเรื่องที่น่าพิศวงมากยิ่งขึ้น หากนึกถึงวันข้างหน้า ที่จะมีรถโดยสารประจำทางเชื่อมสองนครใหญ่ ที่ถูกกำหนดให้เป็นปลายทางสำคัญในอนุภูมิภาค
ตามรายงานของไจก้า สภาพปัจจุบันก็คือ ในฤดูฝนที่น้ำไหลหลากรุนแรง มักจะทำให้การข้ามลำน้ำเซกองด้วยเรือบั๊ก เป็นไปอย่างยากลำบากและเต็มไปด้วยอันตราย เนื่องจากเป็นช่วงที่ลำน้ำ มีความกว้าง และ ในหลายโอกาสที่ไม่อาจทำได้ ทำให้การสัญจร ข้ามลำน้ำสายนี้ต้องหยุดะงัก ชักช้าเสียเวลา และ ประชาชนอีกฝั่งหนึ่งถูกโดดเดี่ยวจากชาวลาวทั้งประเทศ ไม่ต่างกับเป็น "เกาะบนแผ่นดิน"
แน่นอนที่สุด สะพานเซกองเป็นข่าวดีที่สุดอีกข่าวหนึ่งในรอบปี สำหรับชาวลาว ไม่ต่างกับที่ชาวกัมพูชา เคยชื่นชมยินดีเมื่อครั้งเปิดใช้ สะพานเนียกเลือง (Neak Loeung) ข้ามแม่น้ำโขง ใน จ.กันดาล เปรย์แวง เดือน เม.ย.2558 ซึ่งเป็นการปิดจุดอับ บนทางหลวงอาเซียนสายที่ 1 ระหว่างนครโฮจิมินห์กับกรุงพนมเปญ
ชาวลาวผู้หนึ่งเขียนเล่าว่า ตนเคยไปทำงานที่ฝั่งเมืองดากจึง เป็นเวลากว่า 17 ปี และ เหน็ดเหนื่อยกับการนั่งเรือบั๊กข้ามฟาก (ເມືອ່ຍກັບການຂ້າມເຮືອຂ້າມບັກ) มาเป็นเวลานาน พอน้ำมามาก ค่าบริการเรือข้ามฟากก็ขึ้นตาม พร้อมทั้งแสดงความชื่นชมการก่อสร้างสะพานเซกองดังกล่าว
ในการประชุมเกี่ยวกับการเชื่อมต่ออนุภูมิภาคแม่น้ำโขง หรือ GMS (Greater Mekong Sub-region) ที่จัดขึ้นในกรุงฮานอย 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสัมมนา ได้ให้ความสำคัญต่อการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เชื่อมระหว่างระหว่างประเทศสมาชิกทั้ง 6 ฝ่าย ซึ่งได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า กับ มณฑลหยุนหนัน ของจีน รวมทั้งสนับุนการค้าขายข้ามแดน
การพัฒนาต่างๆ ในมุมนี้ของโลก ได้รับการสนับสนุนจาก ธนาคารพัฒนาเอเชียหรือ ADB และ เมื่อย่อลงไปยังอาณาบริเวณ "สามเหลี่ยมมรกต" ระหว่างลาว กัมพูชากับเวียดนาม การพัฒนาจุดอับที่สุดของอนุภูมิภาคบริเวณนี้ ได้รับการสนับสนุนอีกทางหนึ่ง จากรัฐบาลญี่ปุ่น เกาหลี รวมทั้งสหรัฐ
อย่างไรก็ดี ผู้แทนเอดีบีประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวในการสัมมนาครั้งนี้ว่า ในอีกทางหนึ่งสมาชิก GMS ควรแสวงหา และ ระดมการลงทุนจากภาคเอกชน ให้เข้ามีส่วนร่วม ซึ่งจะทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเชื่อมต่อระหว่างกัน ดำเนินไปได้รวดเร็วขึ้น รวมทั้งต้องลดทอนอุปสรรที่ไม่เกี่ยวกับภาษีต่างๆ ลง และสนับสนุนการค้าขายภายใน GMS และ การค้าขายกับนอกอนุภูมิภาค
ปัจจุบันเอดีบีเป็นสปอนเซอร์หลัก ทางด้านการเงิน ให้แก่การพัฒนาเส้นทางการขนส่งเชื่อมภูมิภาค ที่เรียกกันแพร่หลายว่า "ระเบียงขนส่ง" หรือ "ระเบียงเศรษฐกิจ" ทั้งแนวเหนือ-ใต้ แนวตะวันออก-ตะวันตก รวมทั้งเลียบชายฝั่งทะเลทางตอนใต้ของอนุภูมิภาค.
ที่มา https://mgronline.com