เอเอฟพี - แม้พม่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากประชาคมโลกต่อเหตุการณ์การปราบปรามทางทหารที่เกิดขึ้นกับชาวมุสลิมโรฮิงญา แต่พม่ายังคงได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนเก่าอย่างประเทศจีนอย่างเหนียวแน่น ที่ทุ่มเม็ดเงินลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในโครงการท่าเรือ น้ำมันและก๊าซในรัฐยะไข่แห่งนี้
โรฮิงญาเกือบครึ่งล้านชีวิตได้หลบหนีข้ามแดนไปฝั่งบังกลาเทศในช่วงเดือนที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุการณ์การโจมตีของผู้ก่อการร้าย ที่ส่งผลให้ทหารดำเนินการปราบปรามตอบโต้อย่างรุนแรง จนสหประชาชาติเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์
จีนกลับมีท่าทีแตกต่างไปจากประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่กล่าวประณามการปราบปรามของทหาร
“เราคิดว่าประชาคมโลกควรสนับสนุนความพยายามของพม่าในการรักษาเสถียรภาพการพัฒนาประเทศ” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าว
การสนับสนุนดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่คาดไม่ถึงจากพันธมิตรที่ทุ่มเม็ดเงินลงในพม่า แม้ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่จากการปกครองของรัฐบาลทหารและถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรก็ตาม
และแม้ว่ามาตรการคว่ำบาตรส่วนใหญ่ได้ถูกยกเลิกไปในปี 2557 เพื่อเป็นรางวัลสำหรับการจัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่เสรีภาพเหล่านั้นมีความหมายกับปักกิ่งแค่เพียงเล็กน้อย
ในช่วงระหว่างปี 2531 ถึงปี 2557 จีนลงทุนในพม่ามากกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของสำนักข่าวซินหวาของทางการจีน โดยการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในภาคส่วนการทำเหมืองและพลังงาน
“พวกเขามีโครงการทางเศรษฐกิจที่สำคัญอยู่จำนวนหนึ่งที่ดำเนินการกับรัฐบาลพม่า” โซฟี บัวส์โซ ดู รอแชร์ ผู้เชี่ยวชาญภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของฝรั่งเศส กล่าว
โครงการทางเศรษฐกิจที่กล่าวข้างต้นรวมถึงโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษมูลค่า 9,000 ล้านดอลลาร์ ในเมืองจอก์พยู ซึ่งอยู่ทางใต้ของจุดศูนย์กลางความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ภายใต้การพัฒนาของกลุ่มการลงทุน CITIC ของจีน ซึ่งจีนได้ทุ่มเงินเข้าสู่รัฐที่เต็มไปด้วยเหตุความรุนแรงแห่งนี้แล้ว
ในเดือนเม.ย. โครงการท่อส่งน้ำมันจากรัฐยะไข่สู่มณฑลหยุนหนานของจีน มูลค่า 2,450 ล้านดอลลาร์ ได้เปิดใช้งาน ท่อส่งน้ำมันที่เป็นเส้นทางสำคัญสำหรับปักกิ่งที่จะน้ำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลาง และในเดือนเดียวกันนั้น ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยังปูพรมแดงต้อนรับประธานาธิบดีถิ่น จอ ที่เดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง
รัฐยะไข่ รัฐที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตร ชายฝั่งทะเล และแหล่งก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่ง ต้องร้อนระอุจากความรุนแรงระหว่างชุมชนที่คุกรุ่นมานานหลายสิบปี ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธยะไข่และชาวมุสลิมโรฮิงญา ที่ชาวพม่าส่วนใหญ่มองว่าเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ
การต่อสู้ปะทุขึ้นเมื่อเดือนต.ค. 2559 เมื่อกองทัพกอบกู้โรฮิงญาแห่งรัฐยะไข่ (ARSA) เปิดฉากโจมตีตำรวจชายแดน และการโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายที่เกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 25 ส.ค. ส่งผลให้ทหารดำเนินการปราบปรามตอบโต้อย่างหนัก จนทำให้ชาวโรฮิงญากว่า 480,000 คน ต้องอพยพหลบหนีความรุนแรงข้ามแดนไปบังกลาเทศในช่วงเดือนที่ผ่านมา
ที่ดินจำนวนมากถูกทิ้งร้างด้วยหมู่บ้านโรฮิงญาจำนวนมากถูกเผาทำลาย
“ที่ดินไร้เจ้าของซึ่งเป็นผลจากการขับไล่โรฮิงญา อาจกลายเป็นประโยชน์ต่อทหาร และบทบาทของทหารในการนำการพัฒนาเศรษฐกิจทั่วประเทศ ที่ดินกลายเป็นสิ่งที่มีค่าเนื่องจากโครงการของจีน” ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าว
รัฐบาลระบุในสัปดาห์นี้ว่า รัฐบาลจะจัดการที่ดินที่เสียหายจากเพลิงไหม้ทั้งหมดในรัฐยะไข่ โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ขึ้นใหม่ แต่ไม่มีการชี้แจงรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับแผนดังกล่าว.
ที่มา https://mgronline.com/