MGRออนไลน์ -- ความพยายามของรัฐบาลลาว ในการส่งออกพลังงานไปจำหน่ายให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ที่อยู่ไกลออกไป ใกล้ความจริงเข้ามาอีกขั้นหนึ่ง วันพุธ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา เมื่อมีการลงนามสัญญาซื้อขายกันในฟิลิปปินส์ เพื่อส่งไฟฟ้าปริมาณ 300 เมกะวัตต์ ให้แก่มาเลเซียอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2561 หรือ ปีหน้าเป็นต้นไป สื่อของทางการรายงานในวันพฤหัสบดี
การเซ็นสัญญาดังกล่าวจัดขึ้น ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนครั้งที่ 35 ในกรุงมะนิลา โดย นายบุนอุ้ม สีวันเพ็ง ผู้อำนวยการใหญ่รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว เป็นตัวแทนของฝ่ายลาวร่วมลงนาม ซึ่ง "ການຂາຍພະລັງງານໄຟຟ້າໄປປະເທດມາເລເຊຍຄັ້ງນີ້ ຖືໄດ້ວ່າເປັນບາດກ້າວສຳຄັນຂອງຕະຫລາດພະລັງງານ ຂອງ ປະເທດລາວສູ່ອາຊຽນ" สำนักข่าวสารปะเทดลาว รายงานโดยอ้างรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว แต่เพียงสั้นๆ และ ไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นใดอีก
อย่างไรก็ตาม ภาพพิธีเซ็นสัญญาที่เผยแพร่โดยรัฐวิสาหากิจไฟฟ้าลาว ได้แสดงให้เห็นนายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เข้าร่วมการลงนามด้วย ซึ่งส่อให้เห็นว่าเป็นการเซ็นสัญญาสามฝ่าย ระหว่างลาว ไทยกับมาเลเซีย ทั้งนี้การส่งไฟฟ้าไปจำหน่ายให้มาเลเซียนั้น จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ส่งผ่านระบบสายส่งไฟฟ้าของ กฟผ.
การเซ็นสัญญาเมื่อวันพุธ ได้ทำให้ความพยายามของคอมมิวนิสต์ลาวที่ดำเนินมา 3-4 ปี สำเร็จลุล่วงไปอีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญยิ่ง นับตั้งแต่ที่ประชุมครั้งที่ 32 ของรัฐมนตรีพลังงานกลุ่มอาเซียน ที่จัดขึ้นในนครเวียงจันทน์ เดือน ก.ย.2557 ออกข้อมติสนับสนุนการริเริ่ม ในการจัดตั้งเครือข่ายพลังงานไฟฟ้าขึ้นภายในอาเซียน โดยเริ่มจากการส่งไฟฟ้าผ่านไทยกับมาเลเซีย ไปจำหน่ายให้แก่สิงคโปร์เป็นแห่งแรก ซึ่งนำไปสู่การพบปะเจรจากับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ในครั้งนั้น สำนักข่าวทางการได้รายงาน อ้างนายวิระพัน วีระวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ ของลาว ที่เปิดเผยว่า สิงคโปร์สนใจที่จะซื้อไฟฟ้าจากลาว ปีละ 100 เมกะวัตต์ และ จะต้องศึกษาหาวิธีการใช้โครงข่ายสายส่งไฟฟ้าผ่านดินแดนไทย และมาเลเซียไปยังประเทศเกาะที่อยู่ทางตอนใต้สุดของคาบสมุทรมะลายู รวมระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร ซึ่งทำให้มีต้นทุนในการส่งไฟฟ้าสูงกว่า รัฐบาลลาวกำลังปรึกษาหารือกับรัฐบาลมาเลเซีย และรัฐบาลไทย เกี่ยวกับการใช้โครงข่ายสายส่งไฟฟ้าที่มีอยู่แล้ว เพื่อส่งกระแสไฟฟ้าไปจำหน้ายให้สิงคโปร์ ปัจจุบันลาวมีกำลังผลิตถึง 3,200 เมกะวัตต์ และ มีปริมาณเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ที่ใช้ในประเทศ ลาวยังผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำอีกนับสิบแห่ง ทะยอยปั่นไฟเข้าสู่ระบบ โดยมี กฟผ.ของไทย เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน นายวีระพันกล่าวในคราวเดียวกัน
อย่างไรก็ตามการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่สิงคโปร์ โดยผ่านข่ายสายส่งไฟฟ้าในไทย เป็นเรื่องที่ดูจะไม่ง่ายเลย การประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนครั้งที่ 33 และ 34 ในปี 2557 และ 2558 ตามลำดับ ไม่ได้มีมติข้อตกลง ที่เป็นความคืบหน้าใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมา -- แต่ในที่สุดกลับลงเอย เป็นการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่มาเลเซียเป็นแห่งแรก
โครงการส่งไฟฟ้าผ่านไทยไปจำหน่ายให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ที่อยู่ใต้ลงไปนั้น เป็นเพียงโครงการนำร่อง ในแผนการที่ทะเยอทะยานมากกว่า ของอาเซียนทั้งกลุ่ม นั่นก็คือการก่อตั้งโครงข่ายพลังงานไฟฟ้าในระดับภูมิภาค หรือ Asean Power Grid (APG) อันเป็นหนึ่งในนโยบายเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 10 ประเทศ
แผนการด้านพลังงานของอาเซียนนี้ ได้รับการสนับสนุจากประเทศคู่สนทนาและหุ้นส่วนอื่นๆ อีก 6 ชาติ ซึ่งได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย กับนิวซีแลนด์.
ที่มา https://mgronline.com