ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ (ซ้าย) สัมผัสมือกับประธานาธิบดีเจิ่น ได กวาง ของเวียดนาม ในพิธีต้อนรับที่จัดขึ้นยังทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงฮานอย วันที่ 12 พ.ย. -- Agence France-Presse/Hoang Dinh Nam.
รอยเตอร์ - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวระหว่างเยือนเวียดนามวันนี้ (12) ว่าเขาเตรียมที่จะไกล่เกลี่ยระหว่างผู้อ้างกรรมสิทธิในทะเลจีนใต้ ที่ 5 ชาติแข่งขันกับจีนซึ่งอ้างสิทธิอธิปไตยเกือบทั้งหมดของน่านน้ำดังกล่าว
เวียดนามกลายเป็นประเทศที่แสดงท่าทีคัดค้านชัดเจนที่สุดกับการอ้างกรรมสิทธิของจีน ที่รวมทั้งการก่อสร้างและเสริมกำลังทางทหารบนเกาะเทียมในทะเลจีนใต้
ทรัมป์กล่าวแสดงความเห็นก่อนเริ่มการประชุมกับประธานาธิบดีเจิ่น ได กวาง ของเวียดนามว่า “หากผมสามารถช่วยไกล่เกลี่ยหรือตัดสินข้อพิพาทได้ โปรดบอกให้ผมทราบ”
ทรัมป์ยอมรับว่าจุดยืนเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ของจีนเป็นปัญหา
“ผมเป็นผู้ไกล่เกลี่ยและผู้ตัดสินที่ดีมาก” ผู้นำสหรัฐฯ กล่าว
แม้เวียดนามจะอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือพื้นที่รอบแนวปะการังและเกาะขนาดเล็กต่างๆ แต่ก็ไม่มีที่ใดที่มีขนาดใกล้ระดับเดียวกับจีน ขณะเดียวกัน บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน ต่างก็อ้างสิทธิอธิปไตยเหนือน่านน้ำในทะเลจีนใต้แห่งนี้เช่นกัน
ประเด็นทะเลจีนใต้ถูกยกขึ้นหารือที่กรุงปักกิ่งในช่วงต้นของการเดินทางเยือนประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียเป็นเวลา 12 วันของทรัมป์ และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน กล่าวว่า สหรัฐฯและจีนได้แลกเปลี่ยนความเห็นอย่างตรงไปตรงมา
สหรัฐฯ สร้างความไม่พอใจให้กับจีนจากการเดินเรือลาดตระเวนใกล้กับเกาะที่จีนครอบครองอยู่
เมื่อเดือนส.ค. รัฐมนตรีต่างประเทศของชาติสมาชิกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนได้รับรองกรอบการเจรจาสำหรับแนวทางปฏิบัติในทะเลจีนใต้ ความเคลื่อนไหวที่พวกเขายกย่องว่าเป็นความก้าวหน้าแต่นักวิจารณ์กลับมองว่าเป็นยุทธวิธีการซื้อเวลาของฝ่ายจีนเพื่อเร่งเสริมอำนาจทางทะเลของตนเอง
กรอบการเจรจาดังกล่าวมุ่งที่จะผลักดันความคืบหน้าของปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (DoC) ซึ่งตกลงกันไว้ตั้งแต่ปี 2545 แต่ถูกละเลยจากบรรดาชาติที่อ้างกรรมสิทธิในทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ที่ถมทะเลสร้างเกาะเทียมขึ้น 7 แห่งในน่านน้ำพิพาท โดยในจำนวนนั้น 3 แห่ง ได้ติดตั้งจรวดชนิดยิงจากภาคพื้นสู่อากาศและระบบเรดาร์ รวมทั้งทางขึ้นลงของเครื่องบิน
ทุกฝ่ายกล่าวว่ากรอบการทำงานเป็นเพียงเค้าโครงของวิธีที่จะจัดทำแนวปฏิบัติ แต่นักวิจารณ์มองว่าการไม่กำหนดเค้าโครงตั้งแต่ต้นว่าแนวปฏิบัติจำเป็นที่จะต้องมีผลพูกพันทางกฎหมายและสามารถนำมาบังคับใช้ได้หรือการมีกลไกสำหรับแก้ไขข้อพิพาทนั้น ก่อให้เกิดความสงสัยถึงประสิทธิภาพของข้อตกลงที่จะมีขึ้น
กรอบการทำงานดังกล่าวจะได้รับการรับรองจากจีนและสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่การประชุมสุดยอดในกรุงมะนิลาวันจันทร์นี้ ตามการเปิดเผยของนักการทูตรายหนึ่ง
ทางด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หลังเสร็จสิ้นการเยือนเวียดนามจะเดินทางต่อไปยังฟิลิปปินส์เพื่อร่วมการประชุมกับผู้นำชาติสมาชิกอาเซียนก่อนกลับสหรัฐฯ.