เอเอฟพี - สหรัฐฯ แสดงท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นกับพม่า โดยกล่าวหากองกำลังรักษาความมั่นคงของประเทศกระทำเหตุทารุณโหดร้ายต่อชาวโรฮิงญาที่เทียบได้กับ “การกวาดล้างชาติพันธุ์” ชนกลุ่มน้อยมุสลิม
คำแถลงจากเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่เยือนพม่าเมื่อสัปดาห์ก่อน ถือเป็นการประณามที่รุนแรงที่สุดของสหรัฐฯในตอนนี้ต่อการปราบปรามของทหารต่อชาวโรฮิงญา ที่ก่อให้เกิดวิกฤติผู้ลี้ภัย
“หลังจากการวิเคราะห์อย่างละเอียดและรอบคอบจากข้อเท็จจริงที่มี ชัดเจนว่าสถานการณ์ในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่คือการกวาดล้างชาติพันธุ์ชาวโรฮิงญา” ทิลเลอร์สัน ระบุในคำแถลง
ชาวโรฮิงญามากกว่า 600,000 คน หลบหนีจากรัฐยะไข่ของพม่าไปบังกลาเทศตั้งแต่ทหารดำเนินปฏิบัติการต่อต้านผู้ก่อความไม่สงบในรัฐยะไข่ในปลายเดือนส.ค.
ขณะที่กองทัพยืนยันว่าทหารมุ่งเป้าแต่เพียงกบฎโรฮิงญา แต่ผู้ลี้ภัยจำนวนมากในค่ายบังกลาเทศได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสังหาร ข่มขืน และวางเพลิง ด้วยฝีมือของกองกำลังรักษาความมั่นคงและกลุ่มม็อบชาวพุทธ
“การกระทำทารุณข่มเหงเหล่านี้โดยกลุ่มคนในหมู่ทหาร กองกำลังรักษาความสงบ และคนท้องถิ่น ได้สร้างความทุกข์ทรมานแสนสาหัส และยังทำให้ประชาชนหลายแสนคนทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก ต้องหลบหนีออกจากบ้านของตัวเอง” ทิลเลอร์สัน กล่าว
การตอบสนองของพม่าต่อวิกฤติครั้งนี้จะมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นสังคมประชาธิปไตยมากขึ้น รัฐมนตรีกระทรวงกาต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุ
นางอองซานซูจีถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความผิดหวังที่ซูจีล้มเหลวที่จะกล่าวประณามการปราบปรามหรือวิพากษ์วิจารณ์ทหาร
วอชิงตันระบุว่าซูจีมีบทบาทสำคัญในการจัดการกับวิกฤติ แต่กลับระวังที่จะกล่าวโทษกองทัพ
ในการเยือนเมืองหลวงของพม่าเป็นเวลา 1 วัน ทิลเลอร์สันกล่าวว่า วอชิงตันมีความวิตกอย่างยิ่งจากรายงานน่าเชื่อถือเกี่ยวกับการกระทำทารุณอย่างกว้างขวางโดยกองกำลังรักษาความมั่นคงและคนท้องถิ่น และเรียกร้องพม่าให้ยอมรับการสอบสวนอย่างเป็นอิสระในข้อกล่าวหาเหล่านั้น
ในวันพุธ (22) ทิลเลอร์กล่าวว่า “รัฐบาลพม่าและกองกำลังรักษาความมั่นคงต้องเคารพสิทธิมนุษยชนของทุกคนที่อยู่ภายใต้เขตแดนประเทศ และกล่าวโทษผู้ที่ไม่สามารถกระทำเช่นนั้นได้
เมื่อปีก่อน อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่า คืนสิทธิอัตราภาษีพิเศษ ในการช่วยเหลือการเปลี่ยนแปลงประเทศจากการเป็นรัฐบาลเผด็จการทหารไปสู่รัฐบาลพลเรือน
เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศกล่าวกับนักข่าวเมื่อวันพุธว่า สหรัฐฯ กำลังมองหาการคว่ำบาตรเพิ่มเติมที่มุ่งเป้าไปยังบุคคลที่รับผิดชอบต่อการกระทำความรุนแรงเหล่านั้น
แต่ทั้งกองทัพพม่าและฝ่ายบริหารของซูจีเพิกเฉยต่อรายงานการกระทำทารุณต่างๆ และปฏิเสธที่จะอนุญาตให้ผู้สอบสวนของสหประชาชาติที่ได้รับมอบหมายให้สอบสวนข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิต่างๆ เข้าประเทศ
ขณะที่ผู้นำโลกบางคนระบุว่าการดำเนินการของทหารต่อชาวโรฮิงญาเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์
ส่วนองค์กรเฝ้าระวังสิทธิมนุษยชนได้ออกรายงานฉบับหนึ่งที่กล่าวหากองกำลังรักษาความมั่นคงของพม่าว่าฆ่าปาดคอชาวโรฮิงญา เผาเหยื่อทั้งเป็นและรุมข่มขืนผู้หญิงและเด็ก และระบุว่าการกวาดล้างชาติพันธุ์เกิดขึ้นมานานหลายปีภายใต้ระบบการแบ่งแยกชนชาติ.