รอยเตอร์ - พม่าและบังกลาเทศตกลงที่จะรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติเพื่อส่งชาวมุสลิมโรฮิงญาหลายแสนคนที่หลบหนีความรุนแรงในพม่ากลับประเทศอย่างปลอดภัย ตามการเปิดเผยของฝ่ายบังกลาเทศวานนี้ (25)
ชาวโรฮิงญามากกว่า 600,000 คน แสวงหาที่หลบภัยในบังกลาเทศหลังทหารพม่าเปิดฉากปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบในหมู่บ้านของพวกเขาทั่วพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่ หลังกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาโจมตีด่านตำรวจและค่ายทหารเมื่อวันที่ 25 ส.ค.
หลังเผชิญกับวิกฤติด้านมนุษยธรรม รัฐบาลของสองประเทศได้ลงนามข้อตกลงกันเมื่อวันพฤหัสฯ ที่เห็นพ้องกันในการเดินทางกลับของชาวโรฮิงญาว่าควรเริ่มขึ้นภายในระยะเวลา 2 เดือน
จากความไม่แน่นอนว่าสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จะมีบทบาทในกระบวนการด้วยหรือไม่นาน ทำให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนยืนยันถึงความจำเป็นที่จะต้องมีผู้ตรวจสอบเพื่อรับรองความปลอดภัยในการเดินทางกลับของชาวโรฮิงญา
ในการแถลงข่าวที่กรุงธากา เอ เอช มาห์มูด อาลี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศบังกลาเทศ ให้การรับรองว่า UNHCR จะมีส่วนร่วมในบางส่วน
“ทั้งสองประเทศเห็นพ้องกันว่าจะรับความช่วยเหลือจาก UNHCR ในกระบวนการส่งกลับโรฮิงญา และพม่าจะรับความช่วยเหลือตามที่พวกเขาต้องการ” อาลี กล่าว
ความก้าวหน้าทางการทูตนี้มีขึ้นก่อนการเสด็จเยือนพม่าและบังกลาเทศของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ระหว่างวันที่ 26 พ.ย. ถึงวันที่ 2 ธ.ค. ที่มีเป้าหมายส่งเสริมความปรองดองและสันติภาพ
ขณะที่ความรุนแรงในรัฐยะไข่ส่วนใหญ่ยุติลงแล้ว แต่ชาวโรฮิงญายังคงเดินทางออกจากพม่า โดยเหตุผลว่าพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทำมาหากิน เช่น ฟาร์มของตัวเอง การทำประมง และตลาด ซึ่งชาวโรฮิงญาหลายพันคน ที่ส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุ ผู้หญิง และเด็ก ยังคงติดค้างอยู่ตามชายหาดใกล้พรมแดน รอเรือที่จะรับข้ามฝั่งไปยังบังกลาเทศ
รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศบังกลาเทศกล่าวว่า กลุ่มทำงานร่วมที่จะตั้งขึ้นภายใน 3 สัปดาห์ จะกำหนดเงื่อนไขสุดท้ายเพื่อเริ่มกระบวนการส่งตัวกลับ
หลังออกจากค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ โรฮิงญาที่เลือกเดินทางกลับด้วยความสมัครใจจะถูกย้ายไปอาศัยในค่ายในฝั่งพม่า รัฐมนตรีบังกลาเทศกล่าว
“เพราะบ้านส่วนใหญ่ถูกเผาทำลาย พวกเขาจะอาศัยอยู่ที่ใดหลังเดินทางกลับ มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะกลับไปบ้านของตัวเอง” อาลี กล่าว
เจ้าหน้าที่พม่ากล่าวว่า ผู้ที่เดินทางกลับจะย้ายไปอาศัยอยู่ในค่ายพักเพียงชั่วคราว ขณะที่ “หมู่บ้านต้นแบบ” กำลังสร้างขึ้นใกล้กับที่อยู่เก่าของพวกเขา
วิน มัต เอ รัฐมนตรีกระทรวงสวัสดิการสังคม บรรเทาทุกข์ และตั้งถิ่นฐาน ที่เป็นหัวหน้าคณะทำงานของรัฐบาลพม่าด้านการฟื้นฟูรัฐยะไข่ กล่าวว่า อินเดียและจีนเสนอที่จัดหาบ้านสำเร็จรูปให้กับผู้ที่เดินทางกลับ
สหประชาชาติและสหรัฐฯ ได้อธิบายการกระทำของทหารพม่าว่าเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ และกลุ่มสิทธิมนุษยชนได้กล่าวหาว่ากองกำลังรักษาความมั่นคงกระทำเหตุทารุณกรรม ที่รวมทั้งการข่มขืน การวางเพลิง และการสังหาร
สหรัฐฯ ยังเตือนว่าอาจกำหนดมาตรการลงโทษกับบุคคลที่รับผิดชอบกับการกระทำทารุณตามที่กล่าวหาเหล่านี้ แต่พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการกองทัพพม่า ได้ปฏิเสธข้อกล่าวว่าว่าทหารกระทำการทารุณกรรม
ภายใต้ข้อตกลงกับบังกลาเทศ พม่ายังเห็นชอบที่จะดำเนินมาตรการที่จะไม่ทำให้ผู้เดินทางกลับต้องอาศัยอยู่ในสถานที่ชั่วคราวเป็นเวลานาน และวางแผนที่จะออกบัตรประชาชนให้ผู้เดินทางกลับ.