รอยเตอร์ - สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้เรียกร้องต่อผู้นำพม่า ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ยุ่งยากในวิกฤติเกี่ยวกับชะตากรรมของชาวโรฮิงญา ให้มุ่งมั่นในความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และเคารพกลุ่มชาติพันธุ์และเอกลักษณ์ของแต่ละกลุ่ม
สมเด็จพระสันตะปาปาทรงหลีกเลี่ยงการสร้างความขัดแย้งทางการทูตด้วยการไม่ใช้คำว่า “โรฮิงญา” ในการแสดงสุนทรพจน์ต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งรวมทั้งนางอองซานซูจี
ชาวโรฮิงญามากกว่า 620,000 คน ได้อพยพข้ามแดนไปบังกลาเทศ ตั้งแต่ปลายเดือนส.ค. หลบหนีการปราบปรามทางทหารที่วอชิงตันระบุว่าเป็นการกระทำทารุณโหดร้ายที่มุ่งเป้ากวาดล้างชาติพันธุ์ชาวโรฮิงญา
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงแสดงความเห็นดังกล่าวในกรุงเนปีดอ กับนางอองซานซูจี ที่เผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติสำหรับการแสดงความสงสัยต่อรายงานการละเมิดสิทธิกับชาวโรฮิงญา และล้มเหลวที่จะกล่าวประณามทหาร
“อนาคตของพม่าต้องมีสันติภาพ ความสงบสุขบนพื้นฐานของการเคารพในศักดิ์ศรีและสิทธิของสมาชิกแต่ละคนของสังคม เคารพกลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มและเอกลักษณ์ของกลุ่ม เคารพหลักนิติธรรม และเคารพในหลักประชาธิปไตย เพื่อให้ทุกคนและทุกกลุ่มสามารถสร้างคุณูปการที่ถูกต้องตามกฎหมายอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม” สมเด็จพระสันตะปาปา ตรัส
พม่าปฏิเสธการใช้คำว่า “โรฮิงญา” ในการอ้างถึงชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ และมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ
แต่สมเด็จพระสันตะปาปาเคยใช้คำว่าโรฮิงญาในคำอุทธรณ์จากวาติกันในปีนี้ แต่ก่อนที่พระองค์จะเสด็จเยือนพม่า ที่ปรึกษาส่วนพระองค์ได้ถวายคำแนะนำว่าไม่ควรใช้คำนี้ในพม่า มิฉะนั้นอาจทำให้เกิดเหตุการณ์ทางการทูต ที่อาจทำให้ทหารและรัฐบาลพม่าต่อต้านชาวคริสต์ที่เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศ
ขณะที่กลุ่มพระสงฆ์หัวรุนแรงได้กล่าวเตือนเมื่อวันจันทร์ว่าอาจมีการตอบโต้หากพระองค์กล่าวอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับโรฮิงญา
ริชาร์ด ฮอร์เซย์ อดีตเจ้าหน้าที่สหประชาชาติและนักวิเคราะห์ในนครย่างกุ้งกล่าวว่า สุนทรพจน์ของสมเด็จพระสันตะปาปาใช้คำที่ระมัดระวังอย่างมากและหลีกเลี่ยงที่จะสร้างความรู้สึกเป็นปรปักษ์ในหมู่ผู้ฟังท้องถิ่น
“เห็นได้ชัดว่าพระองค์รับคำแนะนำของพระคาร์ดินัลที่จะหลีกเลี่ยงการให้น้ำหนักที่มากเกินไปกับประเด็นวิกฤติโรฮิงญา แต่พระองค์ก็ตรัสเป็นนัยในบางจุด” ฮอร์เซย์ กล่าว.