รอยเตอร์ - กลุ่มติดอาวุธชาวมุสลิมโรฮิงญาเผยว่า พวกเขาไม่มีทางเลือกนอกจากต้องต่อสู้กับสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าการก่อการร้ายที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐพม่า เพื่อปกป้องชุมชนชาวโรฮิงญา และพวกเขาเรียกร้องให้ชาวโรฮิงญาได้ปรึกษาหารือในทุกการตัดสินใจที่มีผลต่ออนาคตของพวกเขา
กองทัพกอบกู้โรฮิงญาแห่งยะไข่ (ARSA) เปิดฉากโจมตีกองกำลังรักษาความมั่นคงของพม่าเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ก่อให้เกิดปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ทางเหนือของรัฐยะไข่ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม จนนำไปสู่ความรุนแรง และการลอบวางเพลิงอย่างกว้างขวาง และการอพยพของชาวบ้านโรฮิงญากว่า 650,000 คน ไปบังกลาเทศ
สหประชาชาติประณามปฏิบัติการของทหารพม่าว่า เป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ ซึ่งทางการพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
แต่นับตั้งแต่การโจมตีในเดือน ส.ค. กลุ่มติดอาวุธโรฮิงญากลุ่มนี้ก่อเหตุโจมตีเพียงไม่กี่ครั้ง จนกระทั่งการโจมตีในวันศุกร์ (5) เมื่อนักรบของกลุ่มซุ่มโจมตีรถบรรทุกทหาร ทำให้สมาชิกของกองกำลังรักษาความมั่นคงได้รับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง
“ARSA ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการต่อสู้กับการก่อการร้ายที่รัฐพม่าสนับสนุนซึ่งเกิดขึ้นกับประชากรชาวโรฮิงญา เพื่อปกป้อง กอบกู้ และคุ้มครองชุมชนโรฮิงญา” คำแถลงของ ARSA ที่ลงนามโดยผู้นำกลุ่ม อะตา อุลเลาะห์ บนทวิตเตอร์ของกลุ่ม
“ชาวโรฮิงญาต้องได้รับการปรึกษาหารือในทุกการตัดสินใจที่ส่งผลต่อความต้องการด้านมนุษยธรรม และอนาคตทางการเมืองของพวกเขา” คำแถลงบนทวิตเตอร์ ระบุ
ARSA อ้างความรับผิดชอบในเหตุซุ่มโจมตีวันศุกร์ (5) แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการปะทะ
โฆษกรัฐบาลพม่า กล่าวว่า ผู้ก่อความไม่สงบกำลังพยายามที่จะชะลอการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับจากบังกลาเทศตามแผนของสองรัฐบาลที่กำลังทำงานอยู่
“ARSA มุ่งหมายที่จะข่มขู่ผู้ที่กำลังตัดสินใจเดินทางกลับ เพื่อแสดงให้เห็นว่าภูมิภาคนี้ไม่มีความสงบสุข” ซอ เต โฆษกรัฐบาลพม่า กล่าว
พม่า และบังกลาเทศกำลังหารือแผนที่จะส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ แต่ความไม่มั่นคงที่เพิ่มขึ้นในพม่ามีแนวโน้มที่จะสร้างความวิตกมากขึ้นถึงกระบวนการดำเนินการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ
ด้านผู้ลี้ภัยร้องเรียนว่า พวกเขาไม่ได้รับการปรึกษาหารือเกี่ยวกับแผนการส่งตัวกลับนี้
ขณะที่รายละเอียดการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และยังคงเต็มไปด้วยคำถาม ไม่เพียงเฉพาะด้านความมั่นคง แต่ยังเกี่ยวกับเงื่อนไขของผู้ลี้ภัยที่จะเดินทางกลับว่าพวกเขาจะสามารถกลับไปถิ่นที่อยู่เดิม หรือพักอาศัยในค่าย
ชาวโรฮิงญาถูกปฏิเสธสิทธิการเป็นพลเมืองมานานหลายปี รวมทั้งการจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหว และการเข้าถึงบริการต่างๆ เช่น การดูแลสุขภาพ ซึ่งชาวพม่ามองว่าคนเหล่านี้เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ
ซอ เต ปฏิเสธข้อเรียกร้องของ ARSA เกี่ยวกับการปรึกษาหารือ โดยระบุว่า รัฐบาลได้ดำเนินการเจรจาแล้วกับแกนนำของชุมชนชาวพุทธ และมุสลิม
“เราจะไม่ยอมรับการก่อการร้าย และจะต่อสู้กับพวกเขาจนสิ้นสุด” โฆษกรัฐบาลพม่า กล่าว และว่าไม่ควรมีใครเสนอการสนับสนุนใดๆ กับกลุ่ม ARSA
ARSA ปฏิเสธความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงใดๆ กับกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง และว่าพวกเขากำลังต่อสู้เพื่อยุติการกดขี่ข่มเหงชาวโรฮิงญา
ฝ่ายโฆษกทหารปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงในรัฐยะไข่ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ยังจำกัดการเข้าถึงสำหรับผู้สื่อข่าว
ความรุนแรงระหว่างชุมชนชาวโรฮิงญา และชาวพุทธยะไข่ปะทุขึ้นในปี 2555 และเกิดความรุนแรงตามมาอีกหลายระลอก
ความรุนแรงที่เริ่มขึ้นในเดือน ส.ค. และวิกฤตผู้ลี้ภัย ก่อให้เกิดเสียงประณามจากต่างชาติ และสร้างความสงสัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบประชาธิปไตยของพม่า หลังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารเกือบ 50 ปี.