เอเอฟพี - แอปพลิเคชันฟรีบนสมาร์ทโฟนของซาน ซาน หล่า กลายเป็นอาวุธใหม่ในการทำสงครามกับบรรดาศัตรูพืชที่สร้างความเสียหายแก่นาข้าวของเธอในพื้นที่ภาคใต้ของพม่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ในการเก็บเกี่ยวผลผลิตในปีนี้ ซาน ซาน หล่า รู้สึกถึงชัยชนะเหนือหายนะตามฤดูกาลหลังได้รับคำแนะนำผ่านแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการใช้ยากำจัดศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพ
“เราเคยเป็นเพียงเกษตรกรที่ทำตามแนวทางที่พ่อแม่ของเราเคยทำให้เราดู แต่หลังจากมีแอปพลิเคชันนี้ ตอนนี้เราได้รับรู้ถึงวิธีที่เราควรทำ มันเป็นเรื่องที่ดีกว่าที่จะใช้เทคนิคที่เหมาะสมมากกว่าสิ่งที่เราเคยๆ ทำ” ซาน ซาน หล่า กล่าว
ซาน ซาน หล่า เป็นหนึ่งในกลุ่มเกษตรกรที่หันมาใช้เทคโนโลยีแก้ไขช่องว่างความรู้ในประเทศที่ 2 ใน 3 ของชนชั้นแรงงานทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม ภาคส่วนที่มีสัดส่วนราว 28% ของจีดีพีประเทศ แต่ผลตอบแทนกลับค่อนข้างต่ำ ด้วยเกษตรกรนั้นถูกปิดกั้นการเข้าถึงเทคโนโลยีทันสมัยภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร
สำหรับประชาชน เช่น ซาน ซาน หล่า แอปพลิเคชันเหล่านี้คือคำตอบ
แอปพลิเคชันให้ข้อมูลแก่เกษตรกรด้วยข้อมูลทันสมัยในทุกเรื่องตั้งแต่สภาพอากาศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ราคาพืชผล รวมทั้งคำแนะนำเกี่ยวกับยาฆ่าแมลงและปุ๋ย และห้องสนทนาในแอปพลิเคชันยังช่วยเชื่อมต่อกับเกษตรกรคนอื่นๆ ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนเคล็ดลับ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญก็พร้อมที่จะช่วยตอบข้อสงสัยซักถาม
แอปพลิเคชัน “Green Way” เป็นสิ่งประดิษฐ์ของอดีตนักศึกษาภาควิชาเกษตรกรรม 2 คน ที่เริ่มตั้งเว็บไซต์สำหรับเกษตรกรเมื่อปี 2554 แต่ในเวลานั้น มีเกษตรกรเพียงไม่กี่คนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต
แต่เมื่อสมาร์ทโฟนมาถึงพม่า ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป
เมื่อพม่าเปิดประตูสู่โลกภายนอก บริษัทให้บริการด้านโทรคมนาคมต่างๆ ได้ตบเท้าเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งตลาดแห่งนี้ ผลักดันให้พม่าก้าวพ้นจากยุคคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และโทรศัพท์มือถือรุ่นเก่าๆ ราคาซิมการ์ดจากที่เคยสูงถึง 3,000 ดอลลาร์ ในปี 2548 ลดฮวบเหลือเพียง 1.5 ดอลลาร์ในปี 2556 และอัตราการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือของประชากรจากมีเพียงแค่ 7% ในปี 2555 มาจนถึงสิ้นปี 2560 พุ่งพรวดขึ้นเป็น 80%
และแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนมีสำหรับทุกเรื่องตั้งแต่สุขภาพ ไปจนถึงรัฐสภาพม่า
บรรดาเกษตรกร แม้แต่ในประเทศที่ยากจนที่สุดต่างมีสมาร์ทโฟนในมือ ที่นับเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับผู้อยู่เบื้องหลังแอปพลิเคชัน Green Way ที่เปิดตัวในปี 2559 และเวลานี้มีพนักงานประจำทำงานอยู่ 18 คน
“Green Way คือความฝันของผมที่จะเชื่อมต่อเกษตรกรกับผู้เชี่ยวชาญ” ยิน ยิน พะยู กล่าว และเวลานี้มีเกษตรกรดาวน์โหลดแล้วราว 70,000 คน
การศึกษาของธนาคารโลกปี 2560 พบว่า เกษตรกรในบางพื้นที่ของประเทศมีรายได้เพียงแค่ 2 ดอลลาร์ต่อวัน ส่วนความสามารถในการผลิตยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำด้วยผลผลิตจากนาข้าวใน 1 วัน อยู่ที่ 23 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับ 62 กิโลกรัมในกัมพูชา 429 กิโลกรัมในเวียดนาม และ 547 กิโลกรัมในไทย
เมียว มี้น ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรอายุ 71 ปี กล่าวว่า ผลผลิตที่ดีขึ้นในภาคการเกษตรของพม่า อาจช่วยเปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ
“ชาวพม่าจำนวนมากทำงานอยู่ในต่างแดน เพราะพวกเขาไม่สามารถหารายได้เลี้ยงชีพได้มากพอจากการทำเกษตรกรรม เกษตรกรต้องการเทคโนโลยีและการลงทุน” เมียว มี้น กล่าว.