สกลนคร-กระทรวงพาณิชย์ ติวเข้มร้านค้าประชารัฐทั่วภาคอีสาน ยกระดับการบริการให้ได้มาตรฐาน รองรับการเป็นร้านค้าต้นแบบเพื่อชุมชน หรือร้านสะดวกซื้อชุมชน ให้กับกลุ่มเป้าหมายกับผู้ถือบัตรสวัสดิการรัฐ 12 ล้านคน
เวทีอบรมหลักสูตร “ยกระดับร้านค้าประชารัฐต้นแบบเพื่อชุมชน” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จ.สกลนคร
เมื่อเร็วๆนี้ ที่โรงแรมสกลแกรนด์พาเลซ อ.เมือง จ.สกลนคร นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ , รศ.นที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ( สทบ. ) และรศ.ดร.ธนสุวิทย์ ทับหิรัญรักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ร่วมบรรยายพิเศษ และเปิดอบรมหลักสูตร “ยกระดับร้านค้าประชารัฐต้นแบบเพื่อชุมชน” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ตามโครงการส่งเสริมและพัฒนาร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง มีผู้เข้าอบรมเป็นเครือข่ายร้านค้าประชารัฐ จำนวน 700 คน จาก 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 25 กันยายน 2560
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เป็นความร่วมมือของกระทรวงพาณิชย์ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้จัดทำหลักสูตรเร่งรัดขึ้น เพื่อยกระดับบริการของร้านค้าประชารัฐให้มีความเข้มแข็ง และบริหารจัดการให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดร้านค้าประชารัฐแล้วกว่า 20,000 ร้านค้า จากจำนวนหมู่บ้าน 80,000 หมู่บ้านทั่วประ เทศ
มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 120,000 บาท มีมูลค่ารวมทั่วประเทศ ไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท เป็นเสมือนเส้นเลือดหลักของระบบเศรษฐกิจฐานราก ที่มีความสำคัญเพื่อจะสร้างอาชีพในชุมชน สร้างเวทีให้กับสินค้าชุมชนมีช่องทางการจำหน่ายสินค้า ในสถานการณ์การณ์การแข่งขันที่เข้มข้นจากร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่ ที่มีอำนาจต่อรองและมีความได้เปรียบ ทำให้ผู้บริโภคเลือกเข้าร้านค้าชุมชนน้อยลง
กระทรวงพาณิชย์ จึงเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาคน ตามนโยบายประชารัฐ เพื่อเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง สอดคล้องกับโครงการประชารัฐสวัสดิการ ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นโอกาสอันดีที่กระทรวงพาณิชย์ ได้คัดเลือกร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้าน เข้าเป็นร้านค้าทางเลือก ให้กับประชาชนที่มีบัตรสวัสดิการกว่า 12 ล้านคน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
ทั้งนี้ร้านค้าประชารัฐกองทุนหมู่บ้าน มีความใกล้ชิดกับชุมชน จะเป็นส่วนหนึ่งการให้บริการชาวบ้าน ควบคู่กับร้านโชห่วยในพื้นที่ และมีกิจกรรมการซื้อขายที่เพิ่มขึ้น และบริการที่หลากหลายขึ้น และร้านค้าประชารัฐ มีบทบาทสำคัญในอนาคต ในการเชื่อมโยงการกระจายสินค้าของแต่ละชุมชนอีกด้วย
ที่มา https://mgronline.com