กาฬสินธุ์-“บำรุง คะโยธา” อดีตแกนนำสมัชชาคนจน ระบุปัญหาโครงการ 9101 ตรวจจริงจะพบทุจริตทั้งประเทศ ชี้สาเหตุจากรัฐบาลเร่งรีบเทงบประมาณเอาใจชาวบ้าน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องจัดหาผู้รับเหมามาซื้อขายปุ๋ย กลายเป็นช่องทางทุจริตและเป็นความล้มเหลวของโครงการฯ ขณะที่จังหวัดกาฬสินธุ์ สั่งตรวจสอบรวดเดียว 220 โครงการ งบ 422,493,549 บาท ผิดชดใช้และติดคุก
จากกรณีชาวบ้านในหลายอำเภอ จังหวัดกาฬสินธุ์ เรียกร้องให้ผู้รับผิดชอบโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ชนิดปูพรม เพราะเชื่อว่าโครงการนี้ ดำเนินการส่อไปในทางทุจริต ไม่โปร่งใส ในขั้นตอนทำโครงการ โดยจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณจำนวน 220 โครงการ เป็นเงิน 422,493,549บาท และมีสำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้สั่งการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นการด่วน ล่าสุดวันนี้ (3ต.ค.60) นายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายธนูสินธุ์ ไชยสิริ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ , นางสาวชุลีพร ภูสมศรี ผอ.ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ , นายไชยา เครือหงส์ หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรม จ.กาฬสินธุ์ ทำหน้าที่ตรวจสอบ และได้ทำหนังสือเป็นวิทยุด่วนแจ้งให้นายอำเภอทุกอำเภอและศูนย์ดำรงธรรมซึ่งได้รับการร้องเรียนในโครงการ 9101ฯ ให้ทำการตรวจสอบทุกโครงการที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยจังหวัดกาฬสินธุ์มีโครงการทั้งสิ้น 220 โครงการงบประมาณ 422,493,549 บาท
โดยศูนย์ดำรงธรรม จ.กาฬสินธุ์ได้ประชุมสรุปปัญหาการร้องเรียน รวมถึงลงพื้นที่สุ่มตรวจ โดยนายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ , นายธนูสินธุ์ ไชยสิริ ปลัดจ.กาฬสินธุ์ , นางสาวลีพร ภูสมศรี ผอ.ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ และเจ้าหน้าที่เข้าไปสุ่มตรวจที่บ้านนากุดสิม หมู่ที่ 3 ตำบลสายนาวัง อำเภอนาคู ซึ่งตำบลนี้ทำโครงการปุ๋ยอินทรีย์ด้วยงบประมาณ 2.5 ล้านบาท
มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน รับผิดชอบโครงการ และมีนายบำรุง คะโยธา อดีตสมัชชาคนจน และกรรมการศูนย์ชาวนาเอเชีย เฝ้าสังเกตการณ์ ซึ่งปรากฏปัญหาการร้องเรียนว่าไม่โปร่งใส มีการสวมชื่อแรงงาน ทั้งที่ไม่มีจริงและมีการหักหัวคิวเป็นค่าสมัครเข้าร่วมโครงการ 9101 คนละ 120 บาทจากค่าแรงงาน ที่ทำนายสนั่น พงษ์อักษร รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าการเข้าสุ่มตรวจถือเป็นการเริ่มต้นการตรวจสอบตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งได้สั่งการให้นายอำเภอทั้ง 18 อำเภอ ทำการตรวจสอบทุกโครงการแบบปูพรม ยังถือว่าเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริง และยังไม่สรุปว่าผิดหรือถูก ซึ่งมีทั้งหน่วยงานทหารเข้ามาร่วมติดตาม แต่กรณีนี้หากพบทุจริตจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการเรียกเงินคืนหรือต้องดำเนินคดีอาญาด้านนายบำรุง คะโยธา อดีตสมัชชาคนจน กรรมการศูนย์ชาวนาเอเชีย กล่าวว่า เงิน 2.5 ล้านบาทต่อชุมชน เป็นเงินที่มีประโยชน์จริง ถ้ามีเวลาทำงานให้ชาวบ้านได้คิดและทำประชาคมให้เกิดความรักหวงแหนในงบประมาณแผ่นดิน แต่ลักษณะที่มาของโครงการ 9101 ตามรอยพ่อฯ เป็นโครงการที่ยัดเยียดลงมาให้กับชาวบ้าน ผ่านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ลงมายังหน่วยงานในสังกัดเกษตรฯ
โดยสรุปเป็นโครงการเร่งด่วนที่ชาวบ้านรับรู้แต่เพียงว่า จะต้องใช้งบประมาณให้หมดเท่านั้น เรื่องนี้จริงๆสงสารเจ้าหน้าที่เกษตรฯทุกส่วน เพราะถูกสั่งให้ใช้เงิน ในแต่ละพื้นที่จะทำอย่างไรให้ใช้งบประมาณตามเป้าหมาย ส่วนใหญ่ก็ออกมาเป็นปุ๋ย คราวนี้เมื่อเป็นปุ๋ยก็เกิดช่องว่าง เพราะในช่วงนั้นจะมีผู้รับเหมาเร่งจัดส่ง ยูเรีย ที่เป็นส่วนผสม บางแห่งเป็นแกลบ บางแห่งเป็นขี้ไก่ ก็บอกว่าทำปุ๋ย
“ตรงนี้คือช่องโหว่ จะว่าทุจริตได้หรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับการตรวจสอบ เพราะหมู่บ้านบางแห่ง ที่ทำปุ๋ยเสร็จ เงินใช้ไม่หมดแต่เพื่อให้เงินหมดก็เอาชื่อญาติพี่น้องของตนเองเข้ามาเบิกเงิน หรือในบางแห่งเจ้าหน้าที่ก็จะรู้กันกับผู้รับเหมา เรื่องนี้ตรวจสอบได้ ถ้าตรวจจริงๆ ทั่วประเทศจะพบว่ามีการทุจริตในทุกจังหวัดอย่างแน่นอน” นายบำรุงกล่าว
โครงการนี้ที่คิดแบบทหารมีความผิดพลาดชัดเจน เพราะรูปแบบโครงการ 9101 ตามรอยพ่อฯ เริ่มต้นและ ครม.อนุมัติใช้เวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์แถมประกาศให้ทำโครงการเพียงเดือนเศษ จึงขอให้รัฐบาล หากจะจัดสรรงบประมาณลงพื้นที่ควรให้เวลาดำเนินงานอย่างเป็นระบบ มีคุณธรรม แต่หากใช้วิธีเดิม เร่งเทงบประมาณลงพื้นที่ จะเป็นการสอนให้ชาวบ้านโกงมากกว่า ที่จะทำเกษตรพอเพียงตามรอยพ่อ
ที่มา https://mgronline.com/local/detail/9600000101143